การศึกษาวัสดุและเทคนิคศิลปะการปั้นปูนสดสกุลช่างเพชรบุรี ที่มุ่งเน้นศึกษาองค์ความรู้ทางด้านวัสดุและเทคนิคงานปั้นปูนสดสกุลช่างเพชรบุรี เพื่อการอนุรักษ์และพัฒนาสู่การประยุกต์ใช้ โดยผู้วิจัยได้สัมภาษณ์ช่างผู้เชี่ยวชาญด้านการปั้นปูนสดสกุลช่างเพชรบุรี และเก็บรวบรวมข้อมูลด้วยแบบสอบถาม และวิเคราะห์ข้อมูลทางสถิติ ผลการศึกษาพบว่า วัสดุที่เลือกใช้เป็นส่วนผสมของปูนสดสกุลช่างเพชรบุรี ประกอบด้วยวัสดุหลัก คือ วัสดุที่จำเป็นต้องมี ขาดไม่ได้ และไม่สามารถใช้สิ่งอื่นทดแทนได้ ซึ่งได้แก่ ปูนขาว และทราย ส่วนผสมหลัก คือ วัสดุที่ใช้เป็นส่วนผสม ขาดไม่ได้ แต่สามารถใช้สิ่งอื่นทดแทนได้ ซึ่งได้แก่ กระดาษฟาง หรือฟางข้าวแห้ง ทำหน้าที่เป็นเส้นใย น้ำตาลโตนด และกาวหนังสัตว์ ทำหน้าที่เป็นตัวยึดประสาน
ส่วนในด้านเทคนิค พบว่า เทคนิคที่เป็นเอกลักษณ์ในงานปั้นปูนสดสกุลช่างเพชรบุรี คือ ความอสมมาตร ซึ่งเป็นการพลิกแพลงไปตามสติปัญญา และอารมณ์ความรู้สึกของช่างจนเกิดเป็นรูปแบบเฉพาะของสกุลช่างเพชรบุรี และในปัจจุบันนิยมนำวิธีการลงรักปิดทอง และการประดับด้วยกระจกสี ซึ่งช่างในสาขาประณีตศิลป์ เรียกว่า งานปิดทองร่องกระจก มาใช้ร่วมกับงานปั้น ซึ่งนอกจากเป็นส่วนช่วยเสริมให้งานปูนปั้นเด่นยิ่งขึ้นแล้ว ยังเป็นการปกป้องให้เนื้อปูนมีอายุยืนนานขึ้นอีกด้วย
อ่านเพิ่มเติมได้ที่>>> https://bit.ly/36gzqhW
*ใช้ฐานข้อมูล TDC จากภายนอกมหาวิทยาลัย ต้องใช้งานผ่านระบบ VPN เท่านั้น >> https://vpn.ssru.ac.th/
![]() |
ชื่องานวิจัย: รายงานการวิจัยเรื่องการศึกษาวัสดุและเทคนิคศิลปะการปั้นปูนสดสกุลช่างเพชรบุรี
ผู้แต่ง: นภดล สังวาลเพ็ชร