พรสรัญ รุ่งเจริญกิจกุล. (2567, พฤษภาคม), การตัดสินใจเกี่ยวกับต้นทุนจม : Gourmet & Cuisine : 114
การตระหนักว่าธุรกิจหรือชีวิตส่วนตัวของเรามีต้นทุนจม (Sunk Cost) หรือไม่ เป็นสิ่งที่มีประโยชน์ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายมากขึ้นเนื่องจากการยึดติดในอดีต
ในกรณีที่ได้มีการตัดสินใจลงทุนด้วยเงินทอง เวลา หรือความพยายามไปแล้ว แต่ไม่สามารถหาประโยชน์จากสิ่งนั้นเพื่อชดเชยต้นทุนที่เสียไปได้ ซึ่งอาจเกิดจากความผิดพลาด หรือ สภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป ไม่ว่าเราจะทำอะไรในปัจจุบันหรืออนาคต ก็ไม่สามารถนําเอาทรัพยากรเหล่านั้นกลับคืนมาได้ เราเรียกสิ่งที่ได้ลงทุนไปในอดีตว่า “ต้นทุนจม” หากต้องการจะหาทางชดเชยด้วยการลงทุนเพิ่ม ก็ควรจะพิจารณาว่าจะต้องใช้จํานวนเงินลงทุนเพิ่มอีกเท่าไร และเปรียบเทียบว่าคุ้มค่ากับผลประโยชน์ที่จะได้รับหรือไม่ มิฉะนั้น หากทุ่มเทเงินลงไปเพราะเสียดายต้นทุนที่เสียไปแล้วโดยไม่ได้คํานึงถึงผลตอบแทนในอนาคต ความเสียหายก็อาจจะยิ่งมากขึ้นเพราะไม่ยอมละทิ้งเพราะต้องการชดเชยสิ่งที่ได้ลงทุนไป แต่เมื่อทําโครงการเสร็จกลับพบว่าขาดทุนมากกว่าเดิมเสียอีก
ในการใช้ชีวิตก็เช่นกัน เราอาจจะเก็บสะสมสิ่งของต่าง ๆ ที่ไม่จำเป็นไว้มากมายเพราะเสียดายที่ซื้อมา แพง ๆ เสียพื้นที่ เสียเงินในการดูแลรักษา ทั้ง ๆ ที่ไม่มีโอกาสจะใช้ประโยชน์อีกแล้วในอนาคต หรือจะทนทำงานที่ไม่มีความสุข เพราะคิดว่าไหน ๆ ก็ใช้เวลาเข้ามาอยู่ในอาชีพหลายปีแล้วจึงไม่กล้าเปลี่ยนงาน ในกรณีเหล่านี้ หากเรายอมรับว่ามันคือต้นทุนจม ยอมรับความสูญเสียที่เกิดขึ้นแล้ว และมองหาโอกาสใหม่ ๆ ในอนาคตก็ย่อมคุ้มค่ากับชีวิตมากกว่า
อย่างไรก็ตามต้นทุนจมเป็นแนวคิดที่เข้าใจง่าย แต่ยากกว่าในทางปฏิบัติ เพราะเมื่อได้มีการลงทุนไปมากแล้ว บางคนอาจจะรู้สึกว่ามันเป็นการผิดที่จะยอมแพ้โดยไม่ได้อะไร จึงยังคงยึดติดอยู่ แต่ในความเป็นจริงเขาไม่สามารถทำอะไรได้เกี่ยวกับเงินลงทุน ความพยายาม หรือเวลาที่ได้ใส่ลงไปในอดีตมันหายไปแล้ว สิ่งที่เขาสามารถทำได้คือการดำเนินการตามข้อมูลที่เรามีอยู่ในปัจจุบัน
ยิ่งเรายอมรับสิ่งที่ได้เกิดขึ้นแล้ว และเลือกที่จะทำสิ่งที่เราสามารถทำได้เพื่อทำให้สิ่งต่าง ๆ ดีขึ้น เราก็จะยิ่งมีความสุขมากขึ้น