![]() |
ตลอด 100
ปีของห้องสมุดเนียลสัน เฮย์ส
มีความสำคัญในประวัติศาสตร์ไทยเกินกว่าห้องสมุดธรรมดาอยู่หลายประการ
อาคารห้องสมุดแห่งนี้ออกแบบโดยสถาปนิกผู้ออกแบบพระที่นั่งอนันตสมาคม
เปิดดำเนินการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2465
ในฐานะห้องสมุดแห่งแรกๆ ในกรุงเทพฯ
และก่อสร้างขึ้นจากความระลึกถึงสตรีอันเป็นที่รัก
จุดเริ่มต้นของห้องสมุดเนียลสัน
เฮย์ส
มาจากการรวมตัวกันของสุภาพสตรีชาวอังกฤษและอเมริกันเพียง
13 คน ในชื่อสมาคมห้องสมุดสตรีกรุงเทพ
(The Bangkok Ladies’ Library
Association)
ซึ่งในระยะแรกยังไม่ได้มีสถานที่ตั้งแน่นอน
ต้องหมุนเวียนสถานที่และเวลาเปิดปิดไปตามบ้านของสมาชิกสมาคม
หลังการเสียชีวิตของเจนนี่
เนียลสัน หนึ่งในสมาชิกของสมาคม
นายแพทย์โทมัส เฮย์วอร์ด เฮย์ส
สามีของเจนนี่
ได้เห็นถึงความรักและความตั้งใจของภรรยาในการดำเนินงานห้องสมุดมาตลอดชีวิต
จึงออกทุนออกแบบและก่อสร้างอาคารหลังหนึ่งบนถนนสุรวงศ์
เพื่อใช้เป็นสถานที่ตั้งถาวรของห้องสมุดและเป็นอนุสรณ์แห่งความรักต่อภรรยา
ชื่อของห้องสมุดมาจากการรวมกันของนามสกุล
เนียลสัน และเฮย์ส
ด้วยการออกแบบจากสถาปนิกชาวอิตาเลียนคนสำคัญของไทย
ฝีมือช่างในระดับเดียวกับที่ใช้ในการก่อสร้างสถานที่สำคัญของประเทศ
อาคารห้องสมุดจึงมีสัดส่วนที่สวยงาม
โถงโดมรูปกลมสมมาตรกับผังอาคารที่มีความกว้างยาวเท่ากันทุกด้าน
รับกับประตูและหน้าต่างทรงโค้ง
ให้ความสำคัญกับรายละเอียดการออกแบบที่เหมาะสมกับความเป็นห้องสมุด
เช่น ระบบผนังสองชั้นเพื่อป้องกันความชื้น
การถ่ายเทอากาศ
หรือแม้แต่การเลือกใช้ตะปูยึดชั้นหนังสือแบบทองเหลืองทั้งหมดเพื่อป้องกันสนิม
ความสวยงามและลงตัวนี้ทำให้ห้องสมุดได้รับรางวัลอาคารอนุรักษ์ดีเด่น
ประจำปี พ.ศ. 2525 จากสมาคมสถาปนิกสยาม
ในพระบรมราชูปถัมภ์
ห้องสมุดเนียลสัน
เฮย์ส
ให้บริการหนังสือภาษาอังกฤษเป็นหลักตามความประสงค์และความถนัดของเจนนี่
เนลสัน และนายแพทย์โทมัส เฮย์วอร์ด เฮย์ส
ปัจจุบันนอกจากการให้บริการสิ่งพิมพ์ยังมีกิจกรรมที่หลากหลาย
เช่น ดนตรีในสวน บุ๊คแฟร์ นิทรรศการศิลปะ
สัปดาห์วรรณกรรม
กิจกรรมเล่านิทานสำหรับเด็ก
ทุกกิจกรรมสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษเป็นส่วนใหญ่
เปิดทำการ
วันอังคาร-วันอาทิตย์ เวลา 09.30 น.
– 17.00 น.
โดยปิดวันจันทร์และวันหยุดนักขัตฤกษ์
มีค่าบำรุงห้องสมุด 100
บาทต่อคนในกรณีที่ไม่ใช่สมาชิกของห้องสมุด
แต่สามารถเข้าชมบริเวณโดยรอบได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
ติดตามข้อมูลข่าวสารของห้องสมุดฯ
ที่ https://neilsonhayslibrary.org
หรือเพจเฟซบุ้ก www.facebook.com/NeilsonHaysLibrary