หมู่บ้านช้างบ้านตากลาง เป็นถิ่นที่อยู่ของชาวกูย ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่ตั้งถิ่นฐานในบริเวณนี้มานานหลายร้อยปี ภูมิปัญญาที่ชาวกูยสืบทอดแบบรุ่นสู่รุ่นก็คือ ความชำนาญด้านการเลี้ยงและฝึกสอนช้างที่เกิดจากสายสัมพันธ์แบบครอบครัว
แต่เมื่อพื้นที่เกษตรกรรมใหม่รุกล้ำพื้นที่ป่าซึ่งเป็นแหล่งอาหารและถิ่นที่อยู่ของช้าง ช้างไม่มีบ้าน ไม่มีอาหาร คนเลี้ยงช้างไม่มีงานทำ การพาช้างคู่ชีพออกไปร่อนเร่บนท้องถนนทั่วประเทศไทยจึงได้เริ่มต้นขึ้น
องค์การบริหารส่วนจังหวัดสุรินทร์จึงจัดทำโครงการศูนย์คชศึกษาขึ้นที่บ้านตากลาง เพื่อเป็นการนำร่องโครงการนำช้างคืนถิ่น ร่วมกับองค์การสวนสัตว์ และอีกหลายหน่วยงานเพื่อช่วยกันแก้ปัญหาช้างและควาญช้างเร่ร่อนให้ค่อยๆ หมดไป
เพราะได้ชื่อว่าเป็นโลกของช้าง การออกแบบลานแสดงช้าง หรือ Elephant Stadium ที่เปรียบเหมือนสนามเด็กเล่นของช้าง จึงยึดขนาดของช้างเป็นหลัก เพื่อให้คนที่มาเที่ยวรู้สึกเหมือนกำลังเดินเข้าไปในบ้านของช้าง
อัฒจรรย์รอบลานแสดงออกแบบให้มีลักษณะเหมือนเนินในภาคอีสาน โดยดินที่ใช้เสริมพื้นที่เป็นดินลูกรังจากการขุดบ่อเก็บน้ำ เพื่อใช้เป็นแหล่งน้ำสำหรับช้าง
หินสีดำที่ใช้ปูทับโดยรอบอัฒจรรย์เป็นหินบะซอลต์ ซึ่งพบเฉพาะในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ ทำหน้าที่ป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากช้าง เพราะหินบะซอลต์มีลักษณะหยาบ ทำให้ช้างซึ่งมีเท้าเป็นหนังอ่อนไม่สามารถเดินขึ้นไปยังบริเวณที่นั่งของคนดูได้
Elephant Museum เป็นส่วนของพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งหน้าตาคล้ายพีระมิดผสมเขาวงกต สร้างจากอิฐดินเผากว่า 480,000 ก้อน มีทางเข้าอาคารที่ค่อยๆ ก่ออิฐเพิ่มความสูงเป็นเว้าโค้ง ให้ความรู้สึกของการเป็นประตูที่ค่อยๆ พาคนตัวเล็กๆ เข้าไปสู่โลกของช้างอย่างแท้จริง นอกจากนี้ ตัวพิพิธภัณฑ์ยังเปิดแนวกำแพงอิฐตามมุมต่างๆ เพื่อให้ช้างสามารถเดินเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการจัดแสดงในอนาคต
อีกทั้งยังมีการออกแบบอากาศ ลม และเสียงภายในพิพิธภัณฑ์ ด้วยการใช้หลักการตามงานวิจัยภาษาเสียง หรือ Sound Brick ทำให้เกิดความแตกต่างของเสียงในพื้นที่ และมีต้นไม้ระหว่างทางเดินช่วยให้ร่มเงาและซับการสะท้อนของเสียง
โลกของช้างเปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าชมมาตั้งแต่เดือนมีนาคม พ.ศ. 2563 ที่ผ่านมา โครงการอยู่ใกล้กับศูนย์คชศึกษา หมู่บ้านช้าง ซึ่งนอกจากจะมีการแสดงช้างแล้ว ยังได้สัมผัสกับวิถีชีวิตคนเลี้ยงช้างได้ในทุกๆ วัน
https://becommon.co/culture/surin-elephant-world
XMA Header Image
4 เรื่องต้องรู้ก่อนไปเยือน ‘โลกของช้าง’ อียิปต์เมืองสุรินทร์