![]() |
ก่อนที่ทุกประเทศทั่วโลกจะฉลองปีใหม่ด้วยการนับถอยหลังและจุดพลุอย่างยิ่งใหญ่เหมือนๆ กัน ประเทศต่างๆ ทั่วโลกมีวิถีการลาจากปีเก่าและต้อนรับปีใหม่ที่แตกต่างกันออกไป
ประเทศในเอเชีย โดยเฉพาะที่ติดทะเลฝั่งตะวันออก เช่น เกาหลี ญี่ปุ่น ให้ความสำคัญกับแสงแรกของปี คนเกาหลีจะเดินทางไปยังฝั่งทะเลตะวันออกเพื่อรอรับแสงแรกของวันขึ้นปีใหม่ ส่วนคนญี่ปุ่นจะไปยังทะเลหรือภูเขาเพื่ออธิษฐานขอพรกับแสงแรกของปี วัดต่างๆ ในญี่ปุ่น เมื่อย่างเข้าวันปีใหม่ จะเริ่มตีระฆัง 108 ครั้ง เพื่อปลดปล่อยสิ่งชั่วร้ายทั้งหมด 108 อย่างจากปีก่อนให้หมดไป
ชาวเกาหลียังเชื่อว่าการสระผมและซักผ้าในวันปีใหม่จะนำโชคร้ายมาให้
ในทวีปยุโรป หลายประเทศมีประเพณีปีใหม่ที่เกี่ยวพันกับโชคลาง เช่น
ประเทศเดนมาร์ก นิยมการปาถ้วยชามที่แตกได้ใส่ประตูบ้านของเพื่อนบ้าน บ้านที่มีกองถ้วยชามแตกกองหน้าบ้านมากที่สุดจะโชคดีมากที่สุด
ประเทศกรีซจะอบขนมชื่อ Vasilopita ที่จะมีการซ่อนเหรียญไว้ภายใน คนที่ตัดได้ส่วนที่มีเหรียญก็จะโชคดีไปตลอดทั้งปี
ชาวอังกฤษเชื่อว่า ผู้ชายคนแรกที่มาเยือนบ้านหลังเที่ยงคืนของวันสิ้นปีจะนำโชคมาให้ โดยเฉพาะผู้ชายที่ Dark Tall and Handsome และให้ทักทายแขกคนแรกด้วยรอยยิ้มและคำอวยพรเพื่อให้โชคดีตลอดปี
ประเพณีขึ้นปีใหม่ของหลายประเทศในแถบอเมริกาใต้ ให้ความสำคัญกับบรรพบุรุษและวิญญาณ เช่น ชาวเปอร์โตริโกเชื่อกันว่า การตั้งถังนำไว้นอกหน้าต่างหรือเทน้ำหนึ่งถังออกนอกหน้าต่างบ้านในวันสิ้นปี จะช่วยขับไล่ภูติผีปีศาจและวิญญาณร้าย
ในประเทศเอกวาดอร์ คนในท้องถิ่นจะมารวมตัวกันเพื่อนำรูปภาพของสิ่งต่างๆ ที่ไม่ต้องการเจอหรือไม่ต้องการให้เกิดขึ้นในปีใหม่เอามาเผาทิ้ง หรือทำหุ่นไล่กาขึ้นมาจากหนังสือพิมพ์และเศษไม้ เมื่อถึงเวลาเที่ยงคืนแต่ละครอบครัวก็จะเผาหุ่นไล่กานั้น เชื่อกันว่าหุ่นไล่กานี้เป็นตัวแทนของสิ่งไม่ดีทั้งหลายของปีที่ผ่านมา
สำหรับประเทศไทยที่คนส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ จึงมีความเชื่อว่าการสวดมนต์ข้ามปี ทำบุญตักบาตร หรือไหว้พระ 9 วัด ในวันแรกของปี จะช่วยเพิ่มสิริมงคลแก่ชีวิตและการเริ่มต้นรับสิ่งดีๆ ใหม่ๆ เข้ามา
ในช่วงเวลาแห่งการเฉลิมฉลองนี้ ศูนย์วิทยบริการ ขอให้ทุกท่านเฉลิมฉลองเทศกาลปีใหม่กันอย่างสนุกสนานและปลอดภัย และพบกันใหม่ในปี 2566 ค่ะ
เรื่องและภาพประกอบ : รัชนก ทองขาวชำ