โครงการห้องสมุดมนุษย์ (Human Library)


หลักการและเหตุผล

        ห้องสมุดมนุษย์ คือ สถานที่สำหรับห้องสมุดที่มีการจัดบริการหนังสือมีชีวิต (Living Book) ซึ่งได้แก่ บุคคลผู้มีความรู้ในเรื่องต่าง ๆ และประสงค์จะถ่ายทอดความรู้ แนวคิด ประสบการณ์ แก่ผู้อื่น ไว้บริการผู้อ่านที่สนใจ ในวัน เวลา และสถานที่ที่กำหนด โดยมีกระบวนการดำเนินงานการพัฒนาหนังสือมีชีวิตและการให้บริการคล้ายห้องสมุดทั่วไป เป็นห้องสมุดที่เราเข้าไปอ่านมนุษย์ด้วยการนำเรื่องราวที่น่าสนใจในทุนมนุษย์ จัดเป็นสินทรัพย์ที่ไม่มีตัวตน (Intangible Asset) ซึ่งตามปกติแล้วไม่สามารถวัดเทียบเป็นมูลค่าทางธุรกิจได้ ในที่สุดสามารถที่จะแปลงสภาพให้กลายเป็นสินทรัพย์ที่สามารถวัดเทียบมูลค่าออกมาได้และยังสามารถทำให้มีสภาพคล่องได้อีกต่างหาก ซึ่งทุนมนุษย์ไม่ใช่สิ่งที่องค์กรเป็นเจ้าของ แต่เป็นแนวการเรียนรู้อีกช่องทางหนึ่งที่ใช้งบประมาณน้อยแต่มีคุณค่าสูง และสร้างแรงบันดาลใจให้แก่ผู้อ่าน โดยมีกระบวนการในการดำเนินการ การพัฒนาหนังสือที่มีชีวิต และเพื่อนำเสนอกระบวนทัศน์ใหม่ในการจัดห้องสมุด ส่งเสริมการอ่านและสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้อีกช่องทางหนึ่ง พร้อมสร้างแรงบันดาลใจให้แก่ผู้ใช้บริการ

        ห้องสมุดมนุษย์แห่งประเทศไทยได้เริ่มดำเนินงาน เมื่อวันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๕๓ ณ สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน โดยได้มีแนวคิดว่าควรจัดเป็น “เครือข่ายห้องสมุดมนุษย์ในประเทศไทย (Thailand Human Library Network : THLN)”เพื่อให้เกิดความร่วมมือกันระหว่างห้องสมุดในประเทศไทย โดยมีการจัดตั้งเครือข่ายห้องสมุดมนุษย์แห่งประเทศไทย เพื่อมุ่งเน้นการสนับสนุนการเรียนการสอน งานห้องสมุด การวิจัยของคณาจารย์ นักศึกษา และบุคลากรของมหาวิทยาลัย เพื่อสร้างองค์ความรู้สู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตและสังคม และเป็นศูนย์กลางในการให้บริการวิชาการแก่นักศึกษา คณาจารย์ บุคลากร และชุมชนในรูปแบบการบริการทรัพยากรสารสนเทศ การส่งเสริมการอ่านซึ่งสอดคล้องกับองค์ประกอบการบูรณาการการศึกษา การเผยแพร่พัฒนาห้องสมุดมนุษย์ให้ได้รับความนิยมและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

        ดังนั้นศูนย์วิทยบริการ สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ จึงได้ดำเนินการจัดโครงการห้องสมุดมนุษย์ (Human Library) : หนังสือมีชีวิตสวนสุนันทา ขึ้น เพื่อเป็นแนวทางในการนำองค์ความรู้ของบุคคลไปสู่การพัฒนาศักยภาพ การสร้างสื่อ คลังสื่อ และแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิต การเพิ่มโอกาสในการเรียนรู้และได้รับบริการ การศึกษา ทุกที่ ทุกเวลา ทุกกลุ่ม ทุกวัย ซึ่งทำให้ห้องสมุดยุคใหม่ต้องปรับตัวเพื่อพัฒนาการบริการและการส่งเสริมการอ่านที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ช่วยในการเปลี่ยนแปลงการดำเนินชีวิตโดยพัฒนาไปสู่สิ่งที่ดีที่สุดของชีวิต


วัตถุประสงค์

  ๑. เพื่อส่งเสริมให้เกิดแหล่งเรียนรู้ในรูปแบบใหม่ ในศูนย์วิทยบริการ อันเป็นแหล่งเรียนรู้ ศึกษา ค้นคว้าของบุคลากรทั้งในและนอกมหาวิทยาลัย

  ๒. เพื่อเพิ่มศักยภาพในการพัฒนากิจกรรมห้องสมุดมนุษย์ของศูนย์วิทยบริการ

  ๓. เพื่อส่งเสริมสนับสนุนการทำกิจกรรมให้เป็นไปตามนโยบายเครือข่ายห้องสมุดมนุษย์แห่งประเทศไทย


กลุ่มเป้าหมาย

  คณาจารย์ นักศึกษา เจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา และบุคคลทั่วไป


ระยะเวลาดำเนินการ

  จัดต่อเนื่องทุกปี

 

ผู้รับผิดชอบโครงการ  

  ศูนย์วิทยบริการ สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา

สถานที่จัดกิจกรรม

  ศูนย์วิทยบริการ สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา

 

แนวทางในการดำเนินงาน

   โครงการห้องสมุดมนุษย์ (Human Library) : หนังสือมีชีวิตสวนสุนันทา จัดขึ้นเพื่อให้นักศึกษา คณาจารย์ เจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา และบุคคลทั่วไป ได้รับความรู้ความเข้าใจ นวัตกรรมความเป็นเลิศทางภูมิปัญญา เพื่อการเผยแพร่และยกระดับความรู้สู่สังคมอุดมปัญญาทั้งนี้เพื่อเป็นการส่งเสริมการอ่านและทักษะการเรียนรู้ในยุคห้องสมุดดิจิทัล

วิธีดำเนินการ

   ๑. เขียนโครงการและขออนุมัติโครงการ

   ๒. จัดประชุมและจัดทำคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการโครงการฯ

   ๓. ประชาสัมพันธ์โครงการ

   ๔. ดำเนินการโครงการ

   ๕. ประเมินผลและสรุปผลการดำเนินงาน

ผลที่คาดว่าจะได้รับ

   ๑. ส่งเสริมให้ศูนย์วิทยบริการเป็นแหล่งเรียนรู้ที่หลากหลาย

   ๒. พัฒนากิจกรรมการเรียนรู้ แนวคิด ประสบการณ์ในด้านต่าง ๆ แก่บุคลากรทั้งในและนอกมหาวิทยาลัย

   ๓. เพื่อผลักดันให้เป็นห้องสมุดมนุษย์ และพร้อมให้บริการความรู้ในด้านต่าง ๆ สามารถตอบสนองกับการบริหารงานของสำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ และสนองตามนโยบายเครือข่ายห้องสมุดมนุษย์แห่งประเทศไทย