ผศ. ดร.ฉัตรภา หัตถโกศล. (2565, พฤษภาคม), Inositol จะช่วยลดความเครียดได้อย่างไร : Gourmet & Cuisine : 262 : 68-69
![]() |
ความเครียดหรือความวิตกกังวลเกิดจากสิ่งที่มากระตุ้นร่างกายให้เกิดการปรับตัว หากเราไม่สามารถปรับตัวไปตามความคิดหรืออารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปจะทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า “ความเครียด” นั่นเอง
ความเครียดแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ 1. ความเครียดแบบเฉียบพลัน (Acute Stress) ที่มักเกิดขึ้นเมื่ออยู่ในสถานการณ์ที่กดดันและเป็นสถานการณ์ที่เฉพาะเจาะจง ซึ่งเมื่อผ่านสถานการณ์นี้ไปความเครียดก็จะหายไปเช่นกัน 2. ความเครียดแบบเรื้อรัง (Chronic Stress) เป็นความเครียดที่ส่งผลต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิต ไม่สามารถขจัดปัญหาได้ในทันที จึงสะสมเป็นระยะเวลานานจนเกิดเป็นความเครียดเรื้อรัง
สาเหตุของการเกิดความเครียดอาจเกิดจากปัจจัยทางด้านร่างกายที่เกี่ยวข้องกับภาวะสุขภาพ การเจ็บป่วยด้วยโรคต่างๆ ปัจจัยทางด้านจิตใจก็งผลให้เกิดความเครียดได้ง่าย เช่น ในผู้ที่มีความรับผิดชอบสูง แต่ผลงานออกมาไม่เป็นไปตามที่คาดหวังมักจะวิตกกังวล
ดังนั้นเราจะต้องประเมินตนเองและมีวิธีในการรับมือกับความเครียด ขั้นตอนแรกคือการยอมรับกับสิ่งที่เกิดขึ้นและการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่อาจตามมาในภายหลัง การออกกำลังกายหรือหาที่ปรึกษาหรือคนที่เราไว้ใจที่จะสามารถพูดคุย บอกเล่าเรื่องราวต่างๆ ให้ฟังได้ และทางเลือกสุดท้ายคือการใช้ยาคลายเครียด ซึ่งการใช้ยาถึงแม้จะช่วยลดความเครียดได้ แต่เมื่อใช้ติดต่อกันเป็นระยะเวลาหนึ่งก็จะต้องเพิ่มปริมาณการใช้ที่มากขึ้นจึงจะได้ผล
ยิ่งไปกว่านั้นความเครียดก่อให้เกิดอนุมูลอิสระภายในร่างกายจำนวนมาก ส่งผลให้เซลล์ต่างๆ เกิดการอักเสบ เสียหาย ถูกทำลาย
การบริโภคอาหารที่อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ เช่น ผักผลไม้ 5 สี พืชสมุนไพร และธัญพืชจะช่วยปรับสมดุลให้กับร่างกายได้ สารสำคัญที่ทำหน้าที่ต้านอนุมูลอิสระนอกจากสารที่ให้สีในผักผลไม้แล้ว ยังรวมไปถึงอิโนซิทอล (Inositol) จัดอยู่ในกลุ่มของวิตามินบี พบได้ตามธรรมชาติในอาหารหลายชนิด เช่น พืช ธัญพืชเต็มเมล็ด ผลไม้ นอกจากนี้ยังอยู่ในรูปแบบของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารอีกด้วย
อิโนซิทอลมีความเกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโตของเซลล์ และยังสามารถตอบสนองต่อความเครียด ปรับสมดุลของสารเคมีในสมอง และทำให้นอนหลับได้ดีขึ้น
การนอนหลับพักผ่อนที่เพียงพอจะช่วยให้สมองได้พักจากความเหนื่อยล้า จึงช่วยลดความเครียดได้
สำหรับคนที่มีความเครียด ความวิตกกังวลอยู่เป็นประจำ หากไม่สามารถขจัดความเครียดเหล่านี้ได้แม้จะได้พูดคุยหรือปรึกษากับคนรอบตัวแล้วก็ตาม ควรปรึกษาจิตแพทย์ เพราะในบางรายอาจพบความผิดปกติของสารเคมีในสมองที่เมื่อไม่ได้รับยาหรือการรักษาที่ถูกต้องจากแพทย์ ก็จะไม่สามารถจัดการกับอารมณ์และความรู้สึกที่เป็นอยู่ได้