หน้าหลัก > ข่าว > บทความที่น่าสนใจ > การเงินของคน gen z
การเงินของคน gen z

ผู้ดูแลเว็บ admin
2022-04-08 13:27:28

พิมพ์ภัทร. (2565, มกราคม-มีนาคม), การเงินของคน gen z : ทิศไท 13 (47) : 55-58

        Generation Z  (Gen Z)  คือผู้ที่เกิดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540– พ.ศ. 2555 มีอายุตั้งแต่ 9-24 ปี ถือเป็นกลุ่มเด็กและเยาวชนรุ่นใหม่ ที่มีความสำคัญและส่งอิทธิพลต่อสังคมและเศรษฐกิจอย่างมาก

        คน Gen Z เติบโตมาพร้อมเทคโนโลยี สมารท์โฟน และอินเทอร์เน็ต มีความสามารถรับรู้เทคโนโลยีใหม่ ๆ รับข่าวสารได้รวดเร็ว เปิดกว้างทางความคิดและวัฒนธรรมที่แตกต่างได้ดี  คน Gen Z จึงมีความพร้อมในการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว

        องค์ประกอบช้างต้นทำให้แนวคิด วิถีชีวิต เป้าหมายในอนาคต รวมถึงพฤติกรรมการจับจ่ายของคน Gen Z แตกต่างจากคนรุ่นก่อน ๆ


ออมเร็ว ลงทุนไว หาวิธีมีรายได้แบบสม่ำเสมอ

        สภาพแวดล้อมที่เพียบพร้อมด้วยอินเทอร์เน็ตและเทคโนโลยี เอื้อให้คน Gen Z เข้าถึงข้อมูลการออมและการลงทุนได้เร็วกว่าคนรุ่นก่อน พวกเขารู้จักหารายได้แบบ Passive Income (รายได้ที่กลับมาต่อนื่องแม้งานจะเสร็จสิ้นไปแล้ว อาทิ การสร้างคอร์สออนไลน์ การทำคลิปลงยูทูป เขียนหนังสือขายแบบ E-Book) เข้าใจวิธีการหารายได้ออนไลน์ และปรับเข้ากับอาชีพแบบพาร์ทไทม์หรือฟรีแลนซ์ได้ดี ขณะเดียวกันก็ออมเงินผ่านการลงทุนในหุ้น กองทุน และผลิตภัณฑ์ทางการเงินอื่น ๆ ไปจนถึงการลงทุนในสกุลเงินดิจิทัล หรือคริปโทเคอร์เรนซี

จัดการบริหารการเงินได้ด้วยตนเอง + ลงทุนอย่างมีวินัย

        คน Gen Z รู้จักใช้เทคโนโลยีเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับชีวิต จึงให้ความสำคัญกับตัวช่วยทางการเงินที่ตนเองสามารถจัดการได้ ข้อดีคือทำให้คน Gen Z เข้าถึงผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินได้ดียิ่งขึ้น

        ด้านการลงทุน คน Gen Z ชอบค้นคว้าข้อมูลจากอินเตอร์เน็ตและเรียนรู้ได้เร็ว ช่วยลดความเสี่ยงจากการลงทุนโดยไม่รู้ แต่ที่ต้องระวังคือ ความมีวินัยและความมั่นคงในการรอคอย เพราะคน Gen Z มักชอบทำอะไรสั้น ๆ ไม่ชอบใช้ระยะเวลานาน จึงต้องปรับพฤติกรรมให้สามารถลงทุนได้อย่างมีวินัยและอดทนจนกว่าจะเห็นผลตอบแทนที่ชัดเจนในระยะเวลายาว เพื่อให้พอร์ตลงทุนประสบผลสำเร็จตามที่ตั้งใจไว้มากที่สุด

วางแผนทางการเงิน เริ่มเร็วเท่าไรยิ่งดี

        ผลสำรวจทักษะทางการเงินของไทย ปี พ.ศ. 2563 ประชาชน Gen Z ของไทย มีคะแนนทักษะทางการเงินค่อนข้างน้อย โดยมีพฤติกรรมและทัศนคติทางการเงินน้อยที่สุดในทุกช่วงวัย แต่มีพัฒนาการของระดับทักษะทางการเงินดีขึ้นมากเมื่อเทียบกับคะแนนปี 2561 โดยเฉพาะด้านความรู้และพฤติกรรมทางการเงิน

        การให้ความรู้ทางการเงินกับกลุ่มคน Gen Z เป็นเรื่องที่ควรปลูกฝังตั้งแต่ยังเด็ก เพื่อสร้างองค์ความรู้และพฤติกรรมทางการเงินในระยะยาว