![]() |
ทุกวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ตามปฏิทินจันทรคติแบบไทย เป็นคืนวันเพ็ญที่อยู่ในช่วงน้ำหลาก จึงเกิดเป็นพิธีลอยกระทงที่ปฏิบัติสืบทอดกันมานานโดยไม่ปรากฎหลักฐานแน่ชัดว่าเกิดขึ้นตั้งแต่สมัยใด
แม้แต่จุดประสงค์ในการลอยกระทงก็ยังมีความเชื่อต่างๆ กัน ทั้งการบูชาพระเกศแก้วจุฬามณีบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ บูชารอยพระพุทธบาทที่ริมฝั่งแม่น้ำนัมมทา บูชา ขอขมา และขอบคุณพระแม่คงคาที่ให้น้ำกินน้ำใช้ หรือลอยเพื่อสะเดาะเคราะห์ ลอยทุกข์ลอยโศก
แต่เมื่อสภาพสังคมเปลี่ยนไป ประเพณีลอยกระทงได้ถูกตั้งคำถามถึงความเหมาะสมด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะกับการใช้โฟมแผ่นเป็นฐานกระทง และกลายเป็นขยะที่ไม่สามารถย่อยสลายได้ เกิดเป็นการรณรงค์ลดโฟมในกระทงซึ่งก็ได้รับความร่วมมือด้วยดี เห็นได้จากจำนวนกระทงจากโฟมที่เก็บได้หลังเทศกาลนั้นลดลงทุกปี
ถ้าไม่ใช้โฟม มีวัสดุทางเลือกใดบ้างที่สามารถนำมาเป็นกระทงได้
• น้ำแข็ง นำดอกไม้และน้ำใส่ลงในภาชนะที่มีลักษณะเป็นถ้วยแล้วแช่ให้เป็นน้ำแข็ง กลายเป็นกระทงใสๆ แปลกตาที่แม้แต่นักวิชาการสิ่งแวดล้อมก็ยังยอมรับว่าสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยมาก และไม่ได้ทำให้อุณหภูมิน้ำเปลี่ยนแปลงไปอย่างที่เข้าใจกัน
• ต้นกล้วย ทั้งแบบตัดเป็นวงมาใช้เป็นฐานกระทง และลอกกาบกล้วยมาทำกระทงแบบมินิมอลที่ทั้งง่าย ประหยัดเวลา และกลายเป็นขยะน้อย
• อาหารปลา ขนมข้าวโพดอบกรอบแบบแท่งที่นำต่อกันด้วยน้ำ กลายเป็นกระทงหลากสีที่เป็นทั้งอาหารปลา และย่อยสลายในน้ำได้ง่ายกว่ากระทงขนมปังแบบเดิม
• โคนไอศกรีม เป็นอีกหนึ่งวัสดุทดแทนที่กำลังมาแรง ด้วยสีและรูปลักษณ์ที่ดัดแปลงเป็นกระทงได้อย่างสวยงามและย่อยสลายง่าย
นอกจากการเลือกใช้วัสดุทางเลือกในการทำกระทง ยังสามารถลดภาระสิ่งแวดล้อมได้ด้วยกิจกรรมอื่นๆ เช่น ลอยกระทงใบเดียวกันในกลุ่มเพื่อนและครอบครัว ลอยกระทงออนไลน์ เป็นต้น
เรื่องและภาพประกอบ : รัชนก ทองขาวขำ
กระทงทางเลือกกับคืนลอยกระทงที่ไม่หลงทาง